วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คำราชาศัพท์

ความหมายและความสำคัญของคำราชาศัพท์
คำ ราชาศัพท์ แปลตรงตัวหมายถึง ถ้อยคำสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน แต่ตามที่นิยมยืดถือมาจนปัจจุบัน หมายถึง ถ้อยคำที่กำหนดไว้สำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ ทั้งโดยวาจาและโดยลายลักษณ์อักษร
            (ก) สื่อสารโดยตรงกับผู้ที่ควรเคารพ ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ พระศาสดา พระสงฆ์ ข้าราชการ ตลอดจนบุคคลอื่นที่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพ และ
           (ข) สื่อสารโดยกล่าวถึงผู้ที่ควรเคารพตามข้อ (ก)
ราชาศัพท์มีหลักเกณฑ์เป็นระบบเหมาะแก่ยุคสมัยและบริบททางสังคม สอดคล้องกับธรรมชาติของภาษา เป็นที่นิยมยอมรับร่วมกัน ราชาศัพท์ประกอบด้วยคำศัพท์และสำนวนที่มีความหมายกระชับ เหมาะสมถูกต้องตามหลักภาษาไทย และมีความไพเราะน่าฟังสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิ ฉะนั้นการใช้ราชาศัพท์ นอกจากเป็นการรักษาแบบแผนทางภาษาที่ดีไว้แล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพที่บุคคลพึ่งมีต่อบุคคลอื่นที่เคารพ
สรุป ได้ว่าราชาศัพท์มีความสำคัญทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งทางสุนทรียลักษณ์เชิงภาษาอีกด้วย
เพื่อสนับสนุนข้อความที่กล่าวให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ได้นำตัวอย่างการใช้ราชาศัพท์จากสถานการณ์จริงมาให้นักเรียนพิจารณาดังนี้
ตัวอย่าง
คำกราบบังคมทูลของข้าราชการ
พ่อค้า คฤหบดีกับราษฎรที่เมืองแพร่
เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๖๙
สรวมชีพ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับฉันทานุมัติของข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย กับทั้งคฤหบดี พ่อค้าราษฎรบรรดามีตำแหน่งราชการและพึ่งพระบรมราชสมภารอยู่ในเขตเมืองแพร่ซึ่งพร้อมกันมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ของพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลให้ทรงทราบความชื่นชมยินดีในพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งทรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาโปรดเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถึงเมืองแพร่ในครั้งนี้
อันเมืองแพร่นี้แม้ถึงมิใช่เป็นหัวเมืองใหญ่โต ก็เป็นเมืองตั้งมาแต่โบราณรุ่นราวเดียวกันกับเมืองอื่นในมณฑลพายัพ และมีเรื่องพงศาวดารเนื่องเป็นทำนองเดียวกันมา คือได้อาศัยพระบรมเดชานุภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นปฐมในพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงช่วยให้พ้นจากอำนาจพม่ามาอยู่ในความปกครองของไทยด้วยกันเอง  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้สืบพระราชวงศ์ดำรงสยามประเทศ  ในรัชกาลภายหลังสืบมา ได้ทรงพระกรุณาทำนุบำรุงให้ร่มเย็นเป็นสุข บ้านเมืองจึงมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาจนถึงกาลบัดนี้ พระเดชพระคุณมีแก่ชาวเมืองแพร่แต่ชั้นบรรพบุรุษสืบต่อกันมาจนบรรดาประชาชนในปัจจุบัน จะหาสิ่งอันใดให้เทียบทันนั้นหาไม่มี แต่ว่าแต่ก่อนมาเมืองแพร่อยู่ในฐานเป็นเมืองป่าเมืองไกล แต่ได้รำลึกถึงพระเดชพระคุณซึ่งปกเกล้าฯ ทุกเช้าค่ำ จนบัดนี้ได้ประสบพบบุญลาภ อันมิได้มีมาแต่กาลปางก่อนเพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระราชอุตสาหะเสด็จมาโปรดเกล้าฯถึงเมืองแพร่ ให้ราษฏรทั้งหลายได้โอกาสกราบถวายบังคมชมพระบารมี แต่ได้ทราบข่าวก็บังเกิดความปีติยินดี ช่วยกันจัดเตรียมการรับเสด็จสนองพระเดชพระคุณตามกำลังของบ้านเมือง ซึ่งสามารถจะทำได้ทุกอย่างทุกประการ บัดนี้ โอกาสซึ่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้มุ่งหมายมาช้านานมาถึง โดยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกับทั้งสมเด็จพระบรมรา๙นีนาถทั้งสองพระองค์ ในที่มหาสมาคมสมมาดหมายข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคลแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสมเด็จพระนางนาถบรมราชินีด้วยศิรเกล้าขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยเจ้าอันเป็นนิรัติศัยบุญเขตวิเศษยิ่ง กับทั้งอำนาจสิ่งซึ่งเป็นประธานในสากลโลก จงประสิทธิสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล พระชนมสุขสถาพรแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระ
องค์จงทุกประการ ขอให้ทรงมีชัยชนะศัตรูหมู่มารทั่วทิศานุทิศ รุ่งเรืองพระเกียรติคุณวิบุลยฤทธิ์ ร่มเกล้า ชาวสยามให้อยู่เย็นเป็นสุขเป็นสุขเป็นสุขเป็นนิจนิรันดร เทอญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะฯ
จากหนังสือ จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙
ตัวอย่าง
ที่สถานีรถไฟพิษณุโลก
ในคืนวันนี้มีเรื่องน่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งมารยาทดีของคนไทยเรา เมื่อกระบวนรถไฟพระที่นั่งแล่นเข้าสู่บริเวณสถานีพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืนนั้น เห็นมีราษฏรและข้าราชการมารับเสด็จคับคั่งล้นสถานี พ่อได้ทราบล่างหน้าอยู่แล้วว่าทางราชการเขาสั่งกันไว้ว่ากำหนดกระบวนรถไฟพระที่นั่งเข้าสถานีจะเป็นเวลาดึกพระเจ้าอยู่หัวอาจเข้าสู่ที่พระบรรทมในดุษณีภาพน่าสังเกต แตรทหารก็เตรียมเป่าสรรเสริญพระบารมี นายวงเงื้อบาต็องอยู่  แต่มิได้มีเสียงอันใดเลย ครั้นพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรดั่งนั้น ทันใดนั้นก็มีเสียงโห่กราวดังสนั่น แตรวงก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นที่น่าจับใจยิ่ง
จากหนังสือ อัตตชีวประวัติ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
ที่มาของคำราชาศัพท์
ราชาศัพท์มีที่มาอย่างไร คำถามนี้อาจแยกพิจารณาตอบได้ ๒ ทางคือ ทางสังคมและประวัติศาสตร์ทางหนึ่ง ทางภาษาอีกทางหนึ่ง
ในทางสังคมและประวัติศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์มีวิวัฒนาการมาแต่โบราณ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระประมุขของชาติตลอดมาหลายร้อยปีแล้ว 
ตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และ กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องหมายความเป็นพระราชาธิบดีมี ๕สิ่ง คือ
พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระแสงขรรค์ชัยศรี
ธารพระกรชัยพฤกษ์
พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี
ฉลองพระบาทเชิงงอน
 รวมทั้งหมดเรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้ตราไว้เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเวลาช้านานเมื่อความรู้สึกและค่านิยมของคนไทยที่มีต่อพระเจ้าแผ่นดินเป็นเช่นที่กล่าว คนไทยย่อมจะต้องยกย่องเทิดทูลพระเจ้าแผ่นดินของตนไว้ในทุกๆ ด้าน เฉพาะคำที่เรียกชื่อว่า พ่อขุน เจ้าชีวิตพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัว เหล่านี้แสดงถึงความเคารพอย่างสูงอยู่แล้ว ยิ่งศัพท์ในวรรณคดีที่คนไทยเรียกขานพระเจ้าแผ่นดินของตนก็ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพอย่างสูงทั้งสิ้น เช่น ทรงธรรม์ ทรงเดช ทรงฤทธิ์ ภูบดี ภูเบศวร์ ท้าวไท อธิราช
การใช้ราชาศัพท์เป็นวิธีการอันเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าแผ่นดินให้สูงกว่าบุคคลอื่น และถวายพระเกียรติแด่พระราชวงศ์และขุนนางที่ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณลดหลั่นลงไปตามลำดับด้วย
     ในทางภาษา เมื่อพิจารณาบรรดาคำราชาศัพท์ทั้งปวงที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันจะเห็นว่าคำราชาศัพท์ที่ใช้เรียกเครือญาติ ส่วนต่างๆ ของร่างกาย สิ่งของ กิริยาอาการ และกิจกรรมต่างๆ ของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชาวงศ์ มีทั้งที่มาจากคำไทยดั้งเดิมและคำที่ไทยรับมาจากภาษาอื่น ที่สำคัญคือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร
คำที่มาจากภาษาอื่น นอกจากสามภาษานี้มีไม่มากหนัก คำศัพท์เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะต้องนำมาตกแต่งเสียใหม่จึงใช้ได้เลยทันทีมีไม่มากหนักและไม่ใช่คำไทยดั่งเดิม
      จะได้ยกตัวอย่างให้เห็นวิธีการตกแต่งคำในภาษาให้เป็นคำราชาศัพท์เป็นพวกๆ ไป ดังนี้

        คำราชาศัพท์ที่ตกแต่งขึ้นจากคำไทยดั้งเดิม
(๑)  ที่ใช้เรียกเครือญาติ เช่น พี่ น้อง ลูก อาจตกแต่งให้เป็นคำราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระคำราชวงศ์ โดยมีคำอื่นเข้าประกอบดังนี้
พระเจ้าพี่ยาเธอ     หมายถึง  พระองค์เจ้าที่เป็นพี่ชายของพระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าน้องยาเธอ หมายถึง  พระองค์เจ้าที่เป็นน้องชายของพระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าลูกยาเธอ   หมายถึง  พระองค์เจ้าที่เป็นลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน
     ถ้าเป็นคำราชาศัพท์ที่สูงขึ้นไปกว่านี้ เช่น คำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับเจ้าฟ้าที่เป็นพี่ชาย น้องชาย ลูกชาย ของพระเจ้าแผ่นดิน ก็มีวิธีการตกแต่งต่างไปอีกดังนี้
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ  หมายถึง  เจ้าฟ้าที่เป็นพี่ชายของพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  หมายถึง  เจ้าฟ้าที่เป็นน้องชายของพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  หมายถึง  เจ้าฟ้าที่เป็นลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน
ขอให้สังเกตด้วยว่า คำไทยดั้งเดิมที่เป็นชื่อเรียกเครือญาติทุกคำ จะนำมาตกแต่งให้เป็นคำราชาศัพท์ โดยใช้แนวเทียบข้างต้นไม่ได้เสมอไป เช่น ลุง ป้า ราชาศัพท์ใช้ว่า พระปิตุลา พระมาตุจฉา  ตามลำดับ
(๒)  คำที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ เกี่ยวกับร่างกาย เช่น กราม เต้านม ไหปลาร้า มีวิธีการตกแต่งให้เป็นดังนี้
พระกราม  หมายถึง  กราม
พระเต้า  หมายถึง  เต้านม
พระรากขวัญ  หมายถึง  ไหปลาร้า
พระยอด  หมายถึง  ฝี หัวฝี
คำพระรากขวัญ และพระยอด นั้น ตกแต่งขึ้นใหม่โดยไม่ได้ใช้คำเดิม
ขอให้สังเกตว่า คำไทยดั้งเดิมที่เป็นคำนามซึ่งนำมาตกแต่งโดยเติมคำ พระ ข้างหน้าให้สำเร็จเป็นคำราชาศัพท์นั้นมีน้อยคำมาก ปัจจุบันน่าจะมีเพียงเท่าที่ยกมานี้
(๓) คำที่ใช้เรียกกิริยาอาการ  เช่น  ถาม  ไอ  จาม  ยืน  เป่าขลุ่ย  ขี่ช้าง  นั่งเรือ   มีวิธีการตกแต่งโดยมีคำ  ทรง   เข้าประกอบให้เป็นดังนี้
ทรงถาม                 หมายถึง  ถาม        ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
ทรงไอ  ทรงจาม หมายถึง  ไอ  จาม ใช้สำหรับพระราชวงศ์
ทรงยืน   หมายถึง   ยืน              ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
ทรงขลุ่ย หมายถึง  เป่าขลุ่ย      ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
ทรงช้าง หมายถึง   ขี่ช้าง     ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
ทรงเรือ หมายถึง   นั่งเรือ       ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
(๔)  คำที่ตกแต่งให้เป็นคำราชาศัพท์โดยเติมคำว่า  ทรง  ลงข้างหน้า  เช่นตัวอย่างข้างต้นมีมาก แต่มิได้หมายความว่าจะทำได้แก่คำไทยทุกคำที่เป็นกิริยาหรือนาม  เช่น    ไหว้   ถ้าเป็นคำราชาศัพท์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ท่านใช้   ทรงคม  อ้วน  ให้ใช้ทรงพ่วงพี  หรือ  ทรงพระเจริญ
(๕)  คำที่ใช้เรียกเครื่องใช้ทั่วไป  ภาชนะใช้สอย  เช่น  เตียง  ที่นั่ง  แส้  มีวิธีการตกแต่งโดยมีคำ  พระ  เข้าประกอบเช่น
พระแท่น หมายถึง   เตียง   ที่นั่ง
พระที่นั่ง หมายถึง   ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวัง
พระแส้    หมายถึง   แส้

ราชาศัพท์ที่ตกแต่งขึ้นจากคำที่มาจากภาษาอื่น
(๑)   คำที่ใช้เรียกเครือญาติ  เช่น  ปู่  ตา  แม่ ใช้คำที่มาจากภาษาบาลีว่า อัยกา ชนนี ตามลำดับ
คำ อัยกา ตกแต่งเป็น  พระอัยกา พระบรมอัยกา สมเด็จพระบรมอัยกา สมเด็จพระบรมอัยกาธิบดี เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่ความสูงศักดิ์เป็นกรณีไป
       คำ ชนนี ตกแต่งเป็น พระชนนี พระราชชนนี สมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนนี เป็นต้น ทั้งนี้อยู่ที่ความสูงศักดิ์เช่นเดียวกัน
       นักเรียนควรสังเกตว่า คำ อัยกา ก็ดี ชนนี ก็ดี ซึ่งไทยรับมาจากภาษาบาลีนั้นยังไม่อาจสำเร็จเป็นราชาศัพท์ได้
(๒)  คำที่ใช้เรียกส่วนต่างๆเกี่ยวกับร่างกาย เช่น มือ ท้อง ตา เพดานปาก คิ้ว นิ้ว ไต ลำไส้ใหญ่ เหงื่อ กระดูก เมื่อจะทำให้เป็นราชาศัพท์จะใช้คำที่ไทยรับมาจากภาษาอื่น คือ หัตถ์ (บาลี) อุทร (บาลี) เนตร (สันสกฤต) ตาลุ (บาลี) ขนง (เขมร) องคุลี (บาลี)วักกะ (บาลี) อันตะ (บาลี) เสโท (บาลี) อัฐิ (บาลี) มีวิธีตกแต่งโดยมีคำ พระ เข้ 
ประกอบ เช่นเดียวกับการตกแต่งคำไทยดั้งเดิมดังที่กล่าวมาแล้ว เป็น พระหัตถ์ พระอุทร พระเนตร พระตาลุ พระขนง พระองคุลี พระวักกะ พระอันตะ พระเสโท พระอัฐิ ตามลำดับ
(๓)  คำที่เกี่ยวกับกิริยาอาการต่างๆ เช่น คำสั่ง คำพูด ความช่วยเหลือ อาการเดิน อาการยิ้ม เมื่อจะทำให้เป็นราชาศัพท์จะใช้คำที่รับมาจากภาษาอื่นคือ โองการ (บาลี) ดำรัส (เขมร) อนุเคราะห์ (สันสกฤต) ดำเนิน(เขมร) สรวล    (เขมร) มีวิธีตกแต่งดังนี้
พระราชโองการ                                         ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทั่วไป
พระบวรราชโองการ                                   ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบรมราชโองการ                                   ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่รับพระบรมราชาภิเษกแล้ว
พระดำรัส                                                ใช้สำหรับพระราชวงศ์
พระราชดำรัส หรือ กระแสพระราชดำรัส  ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรม                ราชินี สมเด็จพระบรมราชชะนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
พระอนุเคราะห์                                          ใช้สำหรับพระราชวงศ์
พระราชานุเคราะห์                                    ใช้สำหรับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
พระบรมราชานุเคราะห์                             ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
ทรงดำเนิน                                                ใช้สำหรับหม่อมเจ้า
ทรงพระดำเนิน                                         ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
แย้มพระสรวล                                          ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
คำที่ถือว่าเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตกแต่งดังตัวอย่างข้างต้น คำเหล่านี้มีอยู่ไม่มาก ที่พบเห็นเสมอๆ เช่น
 รับสั่ง ตรัส         หมายถึง พูด              ใช้สำหรับพระราชวงศ์
 เสวย                    หมายถึง กิน                 ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
 กริ้ว                     หมายถึง โกรธ              ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
 ประทาน             หมายถึง ให้                ใช้สำหรับพระราชวงศ์
 โปรด                  หมายถึง ชอบ พอใจ ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์
(๔) คำที่ใช้เรียกเครื่องใช้ทั่วไป เช่น ปิ่น ต่างหู พัด เมื่อจะทำให้เป็นคำราชาศัพท์ใช้คำไทยที่รับมาจากภาษาอื่น คือ จุฑามณี (บาลี) กุณฑล (บาลี) พัชนี (บาลี) ตกแต่งโดยมีคำ พระ เข้าประกอบเป็น พระจุฑามณี พระกุณฑล พระพัชนี ตามลำดับ
ข้อสังเกตอื่นๆ เกี่ยวกับการใช้คำราชาศัพท์
(๑) การใช้คำ ทรง
  ๑.๑ เมื่อเป็นคำราชาศัพท์ ทรง มีความหมายตามเนื้อความของคำที่ตามหลัง เช่น
ทรงม้า                      หมายถึง  ขี่ม้า
ทรงศร                      หมายถึง   ถือศร
ทรงศีล                      หมายถึง รับศีล
ทรงธรรม                  หมายถึง  ฟังเทศน์
ทรงบาตร                  หมายถึง  ตักบาตร
ทรงราชย์                   หมายถึง  ครองราชย์สมบัติ
ทรงรถ                       หมายถึง  นั่งรถ
ทรงสกี                      หมายถึง เล่นสกี
ทรงกีตาร์                   หมายถึง เล่นกีตาร์
  ๑.๒ ใช้คำ ทรง นำหน้าคำกริยา กลุ่มคำกริยา (กริยาวลี) ให้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น
ทรงฟัง                       หมายถึง ฟัง
ทรงยินดี                    หมายถึง ยินดี
ทรงขอบใจ                หมายถึง ขอบใจ
ทรงชุบเลี้ยง               หมายถึง ชุบเลี้ยง
ทรงเป็นศิษย์เก่า        หมายถึง เป็นศิษย์เก่า
ทรงมีเหตุผล             หมายถึง มีเหตุผล
๑.๓ กริยาใดเป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว จะใช้คำ ทรง นำหน้าอีกไม่ได้ เช่น
ประทม                      หมายถึง นอน
เสวย                           หมายถึง กิน
ประทับ                       หมายถึง อยู่
สรง                             หมายถึง อาบน้ำ
๑.๔ ใช้คำ ทรง นำหน้าราชาศัพท์ที่เป็นนามให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น
                พระกรุณา  เป็นนามราชาศัพท์ เมื่อเติม ทรง เป็น ทรงพระกรุณา หมายถึง มีความกรุณาหรือกรุณา
พระประชวร เป็นนามราชาศัพท์ หมายถึง เจ็บไข้ เติม ทรง เป็นทรงพระประชวร หมายถึงเจ็บไข้
พระดำริ เป็นนามราชาศัพท์ หมายถึง ความดำริ เติม ทรง เป็น ทรงพระดำริ หมายถึง มีความดำริหรือดำริคำ ทรง จะใช้นำหน้าคำกริยาที่มีนามราชาศัพท์ต่อท้ายไม่ได้ เช่น มีพระกรุณา มีพระดำริ มีพระราชโองการ พระราชโอรส เป็นพระประมุข ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซูบพระองค์ ทอดพระเนตร สิ้นพระชนม์ เหล่านี้ไม่ต้องมีทรงนำหน้า
(๒) การใช้คำ เสด็จ
ใช้นำหน้าคำกริยาสามัญบางคำให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ทำนองเดียวกับคำ ทรง เช่น เสด็จไป เสด็จกลับ เสด็จออก เสด็จขึ้น เสด็จลง
        ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ทำให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น เสด็จพระราชสมภพ เสด็จพระราชดำเนิน คำ เสด็จพระราชดำเนิน มีความหมายว่า เดินทางโดยยานพาหนะหรือเดินตามทางลาดพระบาท ต้องเติมคำอันเป็นใจความสำคัญไว้ข้างหลัง เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ เสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนาม เสด็จ
พระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ สังเกตด้วยว่าต้องมีคำกริยาสำคัญ เช่น ไป ตรวจ กลับ ประกอบด้วยความจึงจะสมบูรณ์
หมายเหตุ  เสด็จพระดำเนิน ไม่มีใช้ในราชาศัพท์ มีแต่ ทรงพระดำเนิน หมายถึง เดิน
      ในสมัยก่อน คำ เสด็จ ใช้หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย หรือพระราชวงศ์ได้ด้วย เช่น คำที่ว่า รับเสด็จ ส่งเสด็จ ตามความหมายเดิมในภาษาเขมร แต่ปัจจุบันถ้าส่งหรือรับพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านาย และพระบรมวงศ์ชั้นสูง อย่างเป็นทางราชการใช้ว่า ส่งเสด็จพระราชดำเนิน รับเสด็จพระราชดำเนิน พระราชวงศ์ชั้นรองลงมาจึงใช้ ส่งเสด็จ รับเสด็จ สำนวนใหม่นี้ หมายถึง รับหรือส่งการเดินทางไปมา มิได้หมายถึง รับองค์พระเจ้าแผ่นดินหรือ เจ้านายดังแต่ก่อน
       คำ เสด็จ อีกนัยหนึ่งในภาษาที่ไม่เป็นทางการ ใช้เป็นคำแทนพระองค์ พระองค์เจ้าที่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดาขิงพระเจ้าแผ่นดิน เช่นเสด็จกรมขุน เสด็จพระองค์กลาง
(๓) การใช้คำ พระบรม
      คำ บรม มาจากคำ บรม ในภาษาบาลี แปลว่ายิ่งใหญ่ ในภาษาไทยสงวนคำนี้ใช้แก่สิ่งสำคัญมากเป็นพิเศษสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น เช่น พระบรมเดชานุภาพ พระบรมราโชวาท พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชานุเคราะห์ พระบรมนามาภิไธย หรือพระปรมาภิไธย
(๔) การใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้องตามแบบแผนของสำนวนไทย
การใช้คำราชาศัพท์ควรให้ถูกต้องตามแบบแผนของสำนวนไทย ไม่ควรลอกเรียนแบบสำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ใดก็ตาม เราอาจกล่าวได้ว่า มีพสกนิกรมาเฝ้า ฯ รับเสด็จ (หรือ รับเสด็จพระราชดำเนิน) อย่างเนืองแน่น (คำ เฝ้าฯ รับเสด็จพระราชดำเนิน อ่านว่า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพระราชดำเนิน)
ขอให้นักเรียนสังเกต คำ เฝ้าฯ รับเสด็จ หรือ รับเสด็จ นั้น เป็นคำที่ใช้ถูกต้องตามแบบแผนของสำนวนไทยที่เป็นราชาศัพท์ ไม่จำเป็นต้องใช้ว่า ถวายการต้อนรับ ซึ่งมีลักษณะเป็นสำนวนภาษาต่างประเทศ หรือเราอาจกล่าว
ไว้ว่า ราษฎรไทยมีความจงรักภักดี และใคร่จะแสดงความจงรักภักดี แต่ไม่ใช่ว่า ถวายความจงรักภักดี ซึ่งผิดลักษณะแบบแผนของสำนวนไทย
(๕) การใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้องตามเหตุผลด้วย ตัวอย่างเช่น
      ๕.๑ คำ อาคันตุกะ เมื่อนำไปตกแต่งเป็นคำราชาศัพท์ มักใช้สับสน คำนี้แปลว่าแขกที่มาเยือน จะมีคำ พระราช นำหน้าหรือไม่แล้วแต่บุคคลแขกของพระมหากษัตริย์ใช้พระราช นำหน้า ถ้าไม่ใช่แขกของพระมหากษัตริย์ก็ไม่ต้องมี พระราช นำหน้า
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแขกของพระมหากษัตริย์ก็ว่า เป็นพระราชอาอันตุกะ เช่น พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวเป็นพระราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบธที่๒ แต่ถ้าเป็นแขกของประธานาธิบดี ควรใช่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอาอันตุกะของประธานาธิบดี จึงจะชอบด้วยเหตุผล
     ๕.๒ ในการถวายของแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ถ้าเป็นของเล็กก็ใช่ ทูลเกล้าฯ ถวาย อ่านว่า ทูลเกล้ากระหม่อมถวายถ้าเป็นของใหญ่ เช่น ถวายรถยนต์หรือถวายถังเก็บน้ำฝน ก็ใช่ น้อมเกล้าฯ ถวาย อ่านว่า น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย
    อนึ่ง การใช้คำราชาศัพท์เมื่อกล่าวขานถึงพระบาทบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
(๖) การใช้คำราชาศัพท์สำหรับผู้ที่ควรแก่การเคารพอื่น นอกเหนือไปจากพระราชวงศ์
        การใช้คำราชาศัพท์สำหรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องใช้ให้ถูกต้องตามแบบแผนโดยคำนึงถึงความเคราพอย่างสูง เช่นต้องเรียกขานพระนามให้ถูกต้อง อาทิ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมเด็จพระบรมศาสดา สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตามความเหมาะสมแก่บริบท คำที่ใช้เรียกกริยาอาการของพระพุทธเจ้า เช่น พระดำรัส ตรัส
เสด็จพุทธดำเนิน เสด็จกลับ เสด็จออกบรรพชา เสด็จปรินิพพาน ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ หับพระโอษฐ์ หลับพระเนตร สิ้นพระสุรเสียง ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมเช่นกัน
         การใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระศาสดาของศาสนาอื่น ควรใช้คำแสดงคารวะให้ถูกต้อง เช่น พระศาสดา เสด็จสู่สวรรค์ ทรงสั่งสอน ทรงประกาศศาสนา
(๗). การใช้คำราชาศัพท์ในงานประพันธ์
          งานประพันธ์อาจเป็นงานที่ตัวละครมีจริงในประวัติศาสตร์หรือเป็นงานที่ ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครขึ้น ถ้าเป็นประเภทแรก  การใช้คำราชาศัพท์ค่อนข้างจะเคร่งครัดตรงตามความเป็นจริง เช่น  ในเรื่องกามนิต เรื่องสามกรุง ถ้าเป็นประเภทหลังอาจใช้ราชาศัพท์ไม่เคร่งครัดนัก
       อย่างไรก็ดี การใช้ราชาศัพท์ ในงานประพันธ์ทั้งสองประเภทแตกต่างกับการใช้ราชาศัพท์ ในสถานการณ์จริง กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องใช้ให้คงที่ตลอดไปทั้งเรื่อง ทั้งนี้ สุดแท้แต่ดุลยพินิจของผู้ประพันธ์ที่อาจละไว้ ไม่ใช่คำราชาศัพท์เสียบ้างก็ได้
ตัวอย่าง การใช้คำราชาศัพท์สำหรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหนังสือนิยามเรื่อง กามนิต
ครั้นแล้ว สิ้นพระดำรัส สิ้นพระสุรเสียง หับพระโอษฐ์ หลับ
พระเนตร พระอัสสาสะประสาท ซึ่งเคยระบายอยู่ตามธรรมดาก็ค่อยๆ
แผ่วเบาลงๆ ทุกที แล้วสิ้นพระกระแสลมโดยพระอาการอันสงบ พระภิกษุ
องค์หนึ่งประกาศว่าพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว
ตัวอย่าง การใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระอภัยมณีซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองผลึก ในหนังสือนิทานคำกลอน เรื่อง
พระอภัยมณี
ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท บำรุงราษฎร์เจริญจิตทุกทิศา
คิดคะนึงถึงองค์พระธิดา                                    ยังไม่ลาพรตเลยทำเฉยเชือน
เสียแรงรักฝักฝ่ายหมายสงวน                        เจ้ากระบวนนี่กระไรใครจะเหมือน
    นิ่งกระนี้มิได้จะไปเตือน                                แม้นบิดเบือนบาปกรรมก็ทำเนา
คำที่พิมพ์ตัวหนา คือ คำราชาศัพท์ซึ่งใช้ได้ทั่วไปในงานประพันธ์
     อนึ่ง พึงสังเกตว่า ศัพท์ที่ใช้ในบทร้อยกรองเป็นจำนวนมากพ้องกับคำราชาศัพท์แต่ไม่ถือว่าเป็นราชาศัพท์
ดังตัวอย่าง เช่น
เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงต่ำ     คมขำงามแฉล้มแจ่มใส
คิ้วคางบางงอนอ่อนละไม                 รอยไรเรียบรับระดับดี
ผมเปลือยเลื้อยประลงจนบ่า              งอนปลาย เกศา ดูสมศรี
คำ เกศา ที่พิมพ์ตัวหนาไม่ใช่ คำราชาศัพท์ เป็นเพียงศัพท์วรรณคดีเท่านั้น

คำราชาศัพท์
คำราชาศัพท์
คำแปล
พระเจ้าพี่ยาเธอ
พระองค์เจ้าที่เป็นพี่ชายของพระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าน้องยาเธอ
พระองค์เจ้าที่เป็นน้องชายของพระเจ้าแผ่นดิน
พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้าที่เป็นลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ
เจ้าฟ้าที่เป็นพี่ชายของพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าที่เป็นน้องชายของพระเจ้าแผ่นดิน
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าที่เป็นลูกชายของพระเจ้าแผ่นดิน
พระกราม
กราม
พระเต้า
เต้านม
พระรากขวัญ
ไหปลาร้า
พระยอด
ฝี หัว
ทรงถาม
ถาม
ทรงไอ  ทรงจาม
ไอ  จาม
ทรงยืน
ยืน
ทรงขลุ่ย
เป่าขลุ่ย
ทรงช้าง
ขี่ช้าง
ทรงเรือ
นั่งเรือ
พระแท่น
เตียง   ที่นั่ง
พระที่นั่ง
ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินในพระราชวัง
พระแส้
แส้
รับสั่ง ตรัส
พูด
เสวย
กิน
กริ้ว
โกรธ
ประทาน
ให้
โปรด
ชอบ พอใจ
ทรงม้า
ขี่ม้า
ทรงศร
ถือศร
ทรงศีล
รับศีล
ทรงธรรม
ฟังเทศน์
ทรงบาตร
ตักบาตร
ทรงราชย์
ครองราชย์สมบัติ
ทรงรถ
นั่งรถ
ทรงสกี
เล่นสกี
ทรงกีตาร์
เล่นกีตาร์
ทรงฟัง
ฟัง
ทรงขอบใจ
ขอบใจ
ทรงชุบเลี้ยง
ชุบเลี้ยง
ทรงเป็นศิษย์เก่า
เป็นศิษย์เก่า
ทรงมีเหตุผล
มีเหตุผล
บรรทม
นอน
เสวย
กิน
ประทับ
อยู่
สรง
อาบน้ำ
ทรงพระกรุณา
มีความกรุณาหรือกรุณา
พระประชวร
เจ็บไข้
ทรงพระประชวร
เจ็บไข้
พระดำริ
ความดำริ
ทรงพระดำริ
มีความดำริหรือดำริ
โครงงาน
สื่อการสอน คำราชาศัพท์

ประเภทโครงงาน
พัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา

ผู้จัดทำโครงงาน
๑.นางสาวรัตติกาล จันรักษา
๒.นายสุริยา บุญล้อม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
อาจารย์ว่าที่ รอ.บุญโต นาดี

บทนำ
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
            การเรียนภาษาไทยมีบทเรียนที่น่าสนใจมาก  โดยเฉพาะ  บทเรียน เรื่อง คำราชาศัพท์ ซึ่งทางคณะผู้จัดทำมีความคิดเห็นว่า คำราชาศัพท์ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่ศึกษาแล้วไม่ได้นำไปใช้  ดังนั้น ทางคณะผู้จัดทำ จึงได้จัดทำโครงงานคอมพิวเตอร์เรื่องคำราชาศัพท์ขึ้นเพื่อทำให้ผู้ที่ศึกษาเกิดความรู้ ความเข้าใจ ในคำราชาศัพท์มากขึ้น  ทั้งยังได้รับความรู้จากเว็บไซต์  ที่ใช้เป็นสื่อ
       ในการเรียนการสอน  ทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ  และผู้ที่ศึกษาจะได้มีความกระตือรือร้นในการศึกษามากยิ่งขึ้นด้วย

วัตถุประสงค์
            ๑.  เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องคำราชาศัพท์
            ๒. เพื่อนำคำราชาศัพท์ไปใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละโอกาส
            ๓. เพื่อทำให้ผู้ศึกษามีความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้น
            ๔. จัดทำเว็บไซต์


ประโยชน์ที่ได้รับ
            ๑.  ได้รับความรู้ในเรื่องคำราชาศัพท์
            ๒.  ผู้ที่ศึกษามีความกระตือรือร้นในการเรียนมากยิ่งขึ้น
            ๓.  ผู้ที่ศึกษาได้รับความสนุกสนาน  เพลิดเพลิน
  ๔.  เกิดความสามัคคีภายในกลุ่ม